ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยาเสพติด มักเกิดขึ้นจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้อง และการนำเสนอของสื่อซ้ำๆ ความเข้าใจผิดที่ผังรากลึกจนกลายเป็นความเชื่อนี้ ทำให้เกิดการตีตรา และเป็นอุปสรรคต่อการเปิดใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดยาเสพติด การถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจและจัดการกับความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการบำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ต่อไปนี้เป็นความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับยาเสพติดที่พบบ่อย:
1. ความเชื่อ: การติดเหล้าและติดยาเสพติดเป็นทางเลือกโดยสมัครใจ
ความเป็นจริง: การติดยาเสพติดมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นทางเลือกโดยสมัครใจ เพราะแม้จะทราบถึงโทษและความเสี่ยงแล้ว ผู้เสพก็ยังเลือกที่จะเสพ อย่างไรก็ตาม การติดยาเสพติดเป็นโรคทางสมองที่ซับซ้อนซึ่งมีทั้งปัจจัยทางชีววิทยาและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัย ในตอนแรกการใช้ยาเสพติดอาจเป็นการตัดสินใจโดยสมัครใจ ด้วยเหตุปัจจัยใด ๆ ก็ตาม แต่เมื่อยาเสพติดดำเนินได้เริ่มออกฤทธิ์แล้ว จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานของสมอง ทำให้ความสามารถของแต่ละบุคคลในการควบคุมตนเองเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้เลิกยายากมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมจิตใจ เพราะมันเกี่ยวข้องกับระบบวงจรการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการตัดสินใจ และการตอบสนองต่อความเครียด
2. ความเชื่อ: ผู้ที่ติดยาสามารถเลิกได้ทุกเมื่อที่ต้องการหากเข้มแข็งพอ
ความเป็นจริง: ตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยสิ้นเชิง ผู้ที่มีอาการเสพติดมักไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ แม้พยายามตัดสินใจที่จะเลิกหลายครั้ง เนื่องจากการติดยาเสพติดเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เมื่อสมองคุ้นเคยจากการถูกกระตุ้นโดยยาเสพติดเป็นประจำ ทำให้สมองไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทโดยธรรมชาติได้แบบเดิม ทำให้ผู้เสพต้องหายามาเติมเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้รู้สึกเป็นปกติ นอกจากนี้ อาการถอนยาอาจรุนแรงและความทรมานที่เกิดขึ้น ทำให้ยากขึ้นไปอีกที่จะเลิกโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ วงจรของความอยาก การใช้ และการเลิกยาดสพติดนี้ยิ่งตอกย้ำ ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหลุดพ้นจากการเสพติด โดยปราศจากการรักษาและการสนับสนุนที่ครอบคลุมจากผู้เชี่ยวชาญ
3. ความเชื่อ: ผู้ที่ติดยาเสพติดเป็นบุคคลที่ไม่เอาการเอางาน ต่ำต้อย
ความเป็นจริง: ภาพเหมารวมของผู้ติดยาเสพติดในสื่อ มักจะสะท้อนภาพของคนที่มีฐานะต่ำต้อย อาชีพการงานไม่มั่นคง แต่ความเป็นจริงแล้วมีผู้ติดยาเสพติดมากมายที่ถือเป็น ผู้ติดยาเสพติดที่มีสมรรถภาพสูง (High-functioning addict) ซึ่งภายนอกอาจเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน บุคคลเหล่านี้อาจดำรงตำแหน่งที่โดดเด่นในสังคม เก่งในอาชีพการงาน มีความมั่นคง มั่งคั่ง สามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้ดี และมีความรับผิดชอบที่ดูเหมือนปกติ อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของคนเหล่านี้อาจมีการแอบใช้ยาเสพติดอยู่ ทั้งนี้หากการใช้ยาเป็นไปในปริมาณมากและในระยะเวลานาน ผลกระทบทางลบของการใช้ยาเสพติดจะแสดงออกมาในลักษณะใดลักษณะหนึ่งไม่ช้าก็เร็วอย่างแน่นอน
4. ความเชื่อ: การติดยาเสพติดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเท่านั้น
ความจริง: แม้ว่ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน โคเคน มักจะถูกนึกถึงเมื่อพูดถึงการเสพติด สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการเสพติดอาจเกี่ยวข้องกับสารหลายชนิด รวมถึงยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ และแม้แต่สารที่ถูกกฎหมาย เช่น แอลกอฮอล์และนิโคติน ยากลุ่มโอปิออยด์ เบนโซไดอะซีพีน และสารกระตุ้นอาจทำให้เกิดการเสพติดได้สูงเมื่อใช้ในทางที่ผิดหรือรับประทานโดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์
5. ความเชื่อ: ยาที่สั่งโดยแพทย์ไม่สามารถทำให้เสพติดได้
ความจริง: ยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ เมื่อใช้อย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ อาจทำให้เสพติดได้ เช่นยาจำพวกโอปิออย์ ซึ่งมักสั่งจ่ายเพื่อจัดการกับความเจ็บปวด อาจนำไปสู่การเสพติดหากใช้ในทางที่ผิดหรือรับประทานเป็นระยะเวลานาน เบนโซซึ่งกำหนดไว้สำหรับคลายความวิตกกังวลหรือความผิดปกติของการนอนหลับ สามารถสร้างนิสัยและนำไปสู่การเสพติดได้ ยากระตุ้นซึ่งโดยทั่วไปกำหนดไว้สำหรับผู้ป่วยสมาธิสั้น หากใช้ยาในทางที่ผิดเพื่อให้เกิดอาการร่าเริง อาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติดได้ สิ่งสำคัญคือต้องปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์และใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ตามที่กำหนดเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการเสพติด
6. ความเชื่อ: การติดยาเป็นปัญหาของคนที่จิตใจอ่อนแอ
ความจริง: การเสพติดไม่ใช่การขาดกำลังใจ แต่เป็นโรคเรื้อรังที่มีองค์ประกอบทางชีวภาพ จิตวิทยา และสิ่งแวดล้อม การเสพติดเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมองและการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจ การควบคุมตัวเอง และความสามารถในการสัมผัสความสุข เมื่อเวลาผ่านไป สมองจะจัดลำดับให้ความสำคัญกับการใช้ยาเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งทำให้การเลิกยาเสพติดกลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ การกล่าวโทษบุคคลที่ติดยาเสพติดมีแต่จะเพิ่มความอัปยศและบ่อนทำลายความพยายามในการให้การรักษาและการสนับสนุนที่มีประสิทธิผล
7. ความเชื่อ: การติดยาเสพติดไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดชีวิต
ความจริง: การติดยาเสพติดเป็นภาวะทางการแพทย์ที่บำบัดและฟื้นตัวได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หลายๆ คนเอาชนะการเสพติดได้สำเร็จและใช้ชีวิตแบบไร้สารเสพติด การฟื้นฟูสมรรถภาพจากการติดยาเสพติดเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ มากมายเช่น การให้คำปรึกษา การบำบัดพฤติกรรม กลุ่มสนับสนุน การบำบัดโดยใช้ยาช่วย และการแทรกแซงแบบองค์รวม
ทั้งนี้กระบวนฟื้นฟูสมรรถภาพอาจไม่เป็นเส้นตรง และอาจเกิดความล้มเหลวได้ระหว่างทาง อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับการบำบัดจะสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยความมุ่งมั่นและระบบสนับสนุนที่ดี
8. ความเชื่อ: จะหายทันทีเมื่อเข้ารับการบพบัดจากศูนย์บำบัดยาเสพติด
ความจริง: ความเข้าใจผิดที่อาจนำไปสู่ความคาดหวังที่ไม่สมจริง และอาจเกิดการผิดหวังจนกลับไปใช้ซ้ำอีก การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพจากการติดยาเสพติด คือการเดินทางระยะยาว หลังจากการบำบัดแล้วนั้นการดูแลหลังการรักษาจะช่วยการเลิกยาให้มีความยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าการบำบัดอาจเป็นขั้นตอนสำคัญในการฟื้นฟู แต่ควรมีการดูแลภายหลัง เช่นการฟื้นฟูดูแลระยะเปลี่ยนผ่าน การฟื้นฟูสภาพเพื่อกลับสู่สังคม การติดตามผลหลังการบำบัด ทั้งนี้ การอยู่ในกระบวนการบำบัดให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นจนจบ จะทำให้บุคคลมีเครื่องมือที่จำเป็นและมีกลยุทธ์การรับมือที่ดีต่อสุขภาพเพื่อจัดการกับการเสพติด
9. ความเชื่อ: โปรแกรมการบำบัดผู้ติดยาเสพติดสามารถใช้ได้กับทุกคน
ความเป็นจริง: การบำบัดผู้ติดยาอย่างมีประสิทธิผลจะมีการปรับแผนการรักษาให้เหมาะกับความต้องการและสถานการณ์ของแต่ละบุคคล เพราะสิ่งที่ใช้ได้ผลกับคนคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่ง กระบวนการออกแบบการรักษาจะต้องประเมินถึงชนิดของสารเสพติดเฉพาะที่ใช้ ตลอดจนสภาวะสุขภาพจิต หรือปัญหาโรคร่วมที่ซ่อนอยู่ การรักษาที่ครอบคลุมมักเกี่ยวข้องกับการบำบัดหลายอย่างร่วมกัน รวมถึงการบำบัดพฤติกรรม การบำบัดด้วยยาช่วย กลุ่มสนับสนุน และแนวทางแบบองค์รวม เช่น การเจริญสติและโภชนาการ ด้วยการเสนอทางเลือกการรักษาเฉพาะรายบุคคล เน้นแนวทางตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละบุคคลจึงจะมีโอกาสดีขึ้นในการฟื้นตัวระยะยาว
การทลายความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการติดยาเสพติดที่กล่าวมาเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจและจัดการกับความซับซ้อนของโรค ด้วยการส่งเสริมความเข้าใจต่อโรค การเอาใจใส่ และการส่งเสริมแนวทางการรักษาและการป้องกันที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนผู้คนให้เปิดใจ กล้าที่จะขอรับความช่วยเหลือมากขึ้น และกล้าที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งได้