เลิกยาเสพติด

เลิกยาเสพติดด้วยใจ ทำได้จริงหรือ

การตัดสินใจเลิกยาเสพติดเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “ยาเสพติดเลิกได้ไม่อยาก ทุกอย่างอยู่ที่ใจ”  วลีนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การหักดิบเลิกยาเสพติดเป็นเรื่องง่าย แท้จริงแล้วการจะเลิกยาเสพติดได้อย่างยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลายผสมผสานกัน ได้แก่องค์ประกอบด้าน ร่างกาย จิตใจ และสังคม  ดร.นพ. กนก อุตวิชัย  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดยาเสพติดโดยเฉพาะ มีประสบการณ์ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมากกว่า 18 ปี ได้ให้แสดงทรรศนะในเรื่องนี้ ดังนี้

เหตุใดบางคนลองใช้ยาเสพติดไม่กี่ครั้งก็มีอาการเสพติด 

มีองค์ประกอบบางประการ ที่ทำให้บางคนมีภาวะเสพติดได้ง่ายกว่า หรือเกิดอาการมึนเมาได้ง่ายกว่า

ยีนหรือพันธุกรรม

งานวิจัยจากต่างประเทศหลายชิ้นอธิบายว่า ยีนหรือพันธุกรรม มีส่วนทำให้บางคนเกิดอาการมึนเมาหรือติดยาเสพติดได้ง่ายกว่า เนื่องจากยีนของแต่ละคนจะไวต่อการรับสารเสพติดในระดับที่แตกต่างกัน

สมมติว่าคน ๆ หนึ่งมียีนที่ผิดปกติตัวนี้อยู่ เมื่อเขาได้รับนิโคติน (Nicotine) เข้ามาในร่างกายสัก 2-3 ครั้ง  สารเสพติดจะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่าสารแห่งความสุขหรือโดพามีน (Dopamine) ออกมามากกว่าคนปกติทั่วไปในการได้รับสารในปริมาณ 2-3 ครั้งที่เท่ากัน เพราะฉะนั้น สาเหตุที่บางคนรู้สึกมึนเมาง่าย หรือติดยาเสพติดง่ายกว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องของพันธุกรรมด้วย 

การออกฤทธิ์ของสารเสพติด

นอกเหนือจากเรื่องของพันธุกรรม ก็จะเป็นเรื่องของฤทธิ์ของตัวยาเสพติดเอง กล่าวคือ สารเสพติดบางประเภทจะมีระดับการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดพามีนออกมาในปริมาณที่มากและนานกว่าปกติทั่วไป เช่นสารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ฝิ่น และเฮโรอีน ซึ่งสารเสพติดกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างนาน และผู้เสพจะมีโอกาสติดได้ง่าย  อีกจำพวกหนึ่งก็คือสารเสพติดประเภทแอมเฟตามีน (Amphetamine)  ซึ่งจะออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารโดพามีนได้เร็วเช่นกัน แต่ก็จะหมดไปเร็ว ดังนั้นระดับการเสพติดก็อาจจะไม่หนักมากหากเทียบกับสารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ อันได้แก่ ฝิ่น และเฮโรอีน

ปริมาณและความถี่ในการใช้ยาเสพติด

สารเสพติดอีกประเภทคือ คือนิโคติน (Nicotine) ซึ่งถึงแม้ว่าระดับการออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งโดพามีนจะไม่มากเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับแอมแฟตามีน เช่น ยาบ้า ยาไอซ์  แต่ปรากฎว่า รูปแบบในการใช้นิโคตินของคนที่ติดแล้ว คือการใช้บ่อย ๆ เป็นประจำ กล่าวคือ ไม่ได้สูดครั้งเดียวแล้วจบ เพราะบุหรี่มวนหนึ่งสามารถสูดได้หลายครั้ง และวันหนึ่งอาจจะสูบหลายมวน เพราะฉะนั้น โอกาสในการที่จะติดก็มีสูงขึ้นตามปริมาณและความถี่ในการใช้

วิธีการใช้ยาเสพติด

รูปแบบหรือวิธีการในการใช้ยาเสพติดก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เช่นหากผู้เสพใช้ยาเสพติดในช่องทางที่สารเสพติดจะสามารถถูกดูดซึมเข้าร่างกายไปสู่สมองได้เร็ว ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการนัสเข้าไปในโพรงจมูก การฉีด หรือว่าการเหน็บก้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะมีโอกาสที่จะทำให้ตัวยาหรือสารเสพติดนั้นถูกดูดซึมและเข้าไปในกระแสเลือดได้เร็ว ซึ่งก็จะทำให้มีโอกาสได้ติดง่ายกว่า

กลุ่มผู้เสพที่ใช้รูปแบบวิธีการกินนั้น จะมีโอกาสติดจะน้อยกว่า (หากคำนึงถึงปัจจัยวิธีการใช้ยาเสพติดเพียงอย่างเดียว) เช่นในอดีต ผู้เสพยาบ้า มักจะเสพยาโดยใช้รูปแบบวิธีการกิน ซึ่งโอกาสที่จะติดในช่วงแรก ๆ อาจจะมีน้อยเพราะกว่าการฉีด เพราะปริมาณสารเสพติดที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายจะมีปริมาณน้อยกว่า เนื่องจากไปเจอน้ำย่อยต่าง ๆ ในร่างกายที่รบกวนกระบวนการดูดซึม 

โรคจิตเวชร่วม 

กลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องของสภาวะจิตใจก๋เป็นกลุ่มที่เปราะบางกว่า กล่าวคือถ้ากลุ่มที่มีปัญหาในโรคทางจิตเวชร่วมมาก่อน เช่นมีอาการของโรคซึมเศร้าและใช้ยาเสพติดในการแก้ปัญหา เช่นใช้สุรา กรณีเช่นนี้การดื่มหนักสัก 4-5 ครั้ง ก็อาจจะมีโอกาสติดง่ายขึ้นเป็นต้น

สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว 

ส่วนประเด็นในเรื่องของสังคม เช่น ในชุมชนรอบ ๆ มีเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายไหม มีการค้าขายยาเสพติดหรือไม่ มีกลุ่มเพื่อนคอยกระตุ้นชักชวนให้เสพยา (Peer pressure) อยู่เรื่อย ๆ ไหม  ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ก็สร้างโอกาสในการเสพติดให้สูงขึ้นเช่นกัน  ดังนั้นการจะตอบคำถามว่าทำไมบางคนถึงใช้ยาเสพติดไม่กี่ครั้งก็ติด คำตอบคือปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น กล่าวคือ มีองค์ประกอบทั้ง พันธุกรรม สภาวะโรคจิตเวชร่วม และสังคม (Bio-Psycho-Social) ทั้งสามด้านนี้

แรงจูงใจหรือพลังใจเพียงพอหรือไม่ 

กระบวนการบำบัดจะเกิดผลช้าหรือเร็ว ผู้เข้ารับการบำบัดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือเรื่องของแรงจูงใจ  แรงจูงใจของผู้เข้ารับการบำบัดที่ต้องการจะเลิกยาเสพติดเป็นสิ่งสำคัญมาก  

ก้าวแรกเพียงแค่เขายอมรับว่าตัวเองมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ก็ถือว่าได้เริ่มต้นเปิดใจนำไปสู่ก้าวแรกของการเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว  และขั้นตอนต่อมา เขาอาจเกิดการลังเลใจว่าจะเข้ารับการบำบัดดีหรือไม่  และสุดท้ายเมื่อขยับไปถึงขั้นของการตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลิกยาเสพติดอย่างเด็ดขาด  ตรงจุดนี้ หากเราใส่กระบวนการบำบัดเข้าไป เขาจะเปิดใจและมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำรงชีวิตต่อไปโดยปราศจากยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน  ซึ่งแรงจูงใจหรือพลังใจก็เป็นจุดสำคัญ ที่จะทำให้กระบวนการบำบัดเกิดประสิทธิผล 

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบทางพลังใจนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะกระบวนการเลิกยาเสพติดอย่างยั่งยืนต้องประกอบด้วย องค์ประกอบด้าน ร่างกาย จิตใจ และสังคม ร่วมด้วย

ร่างกาย (Bio) ของบางคนอาจไม่สามารถรับมือกับอาการถอนพิษยาหรืออยากยา  หรือหากบางคนที่มีสภาวะโรคทางจิตเวชร่วมกับการใช้สารเสพติด (Psycho) แต่ปมปัญหาทางจิตใจยังไม่ได้รับการคลี่คลาย  หรือบางคนยังใช้ชีวิตวนเวียนกับสภาพแวดล้อมแบบเดิมที่ห้อมล้อมไปด้วยผู้ใช้ยาเสพติด (Social)  ทั้งหมดเหล่านี้ คือสาเหตุที่แสดงให้เห็นว่าเหตุใดพลังใจอย่างเดียวจึงไม่พอ  ดังนั้นการเลิกยาเสพติดจึงต้องการกลไกที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้กระบวนการบำบัดและเลิกยาเสพติดเป็นไปได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

บทความนี้ถอดความจากบทสัมภาษณ์ของ ดร.นพ. กนก อุตวิชัย แต่ไม่ใช่การถอดคำพูดคำต่อคำ เนื่องจากมีการเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น  คุณสามารถรับชมวิดีโอการสัมภาษณ์นี้ ได้จากช่องทาง Youtube ของเรา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า